สำหรับกลุ่มธุรกิจอาหารแช่แข็งเรื่องของบรรจุภัณฑ์นั้นถือเป็นปัจจัยสำคัญ ในการปกป้องผลิตภัณฑ์หรือสินค้าให้ปลอดภัยจากการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ แบคทีเรีย และการสูญเสียน้ำในวัตถุดิบเหล่านี้ ซึ่งเป็นต้นเหตุของกลิ่นไม่พึงประสงค์และอาจลุกลามไปถึงการเสื่อมคุณภาพหรือการเน่าเสียได้หากมีการบรรจุผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ด้วยเหตุนี้ทำให้บรรจุภัณฑ์อาหารแช่แข็งเป็นโจทย์สำคัญสำหรับผู้ประกอบการ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์สามารถคงคุณค่าทางโภชนาการเอาไว้ได้ครบถ้วนภายใต้กระบวนการแช่แข็ง
คุณสมบัติของบรรจุภัณฑ์อาหารแช่แข็ง
คุณสมบัติพื้นฐานที่บรรจุภัณฑ์อาหารแช่แข็งสามารถทำได้คือการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์จากปัจจัยเสี่ยงรอบด้านที่ทำให้สินค้าเสื่อมคุณภาพลง ทั้งในเรื่องของความชื้นจากภายนอก และจุลินทรีย์ต่างๆ ซึ่งบรรจุภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานจะต้องคุณสมบัติดังต่อไปนี้
- มีความทนทานต่อการฉีกขาด และการกระแทกได้ดี
- ช่วยปกป้องรังสี UV จากแสงแดด
- สามารถแช่แข็งในอุณหภูมิต่ำสุดถึง -20 °C
- มีความใสสามารถโชว์สินค้าข้างในได้ชัดเจน
- ป้องกันการไหลผ่านของออกซิเจนที่เป็นการนำพาความชื้นเข้ามาข้างในได้
- ส่วนของบรรจุภัณฑ์ชั้นนอกต้องไม่ทำปฏิกิริยาใดๆ กับผลิตภัณฑ์ที่อยู่ภายใน
- มีคุณสมบัติในการอุ่นร้อนได้เพื่อความสะดวกแก่ผู้บริโภคสำหรับผลิตภัณฑ์แบบพร้อมทาน
รูปแบบของบรรจุภัณฑ์อาหารแช่แข็ง
ด้วยรูปแบบของผลิตภัณฑ์ที่มีจุดประสงค์ในการใช้งานที่แตกต่างกัน ทำให้บรรจุภัณฑ์อาหารแช่แข็งมีรูปแบบการบรรจุสินค้าที่แตกต่างกัน โดยใช้ลักษณ์ทางกายภาพและประเภทของอาหารเป็นเกณฑ์หลักในการพิจารณา รวมไปถึงวิธีการจัดจำหน่ายก็มีส่วนด้วยเช่นกัน สามารถแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบหลักๆ ดังนี้
1.Ready-to-Cook หรืออาหารพร้อมปรุง
เป็นลักษณะสินค้าที่ต้องไปปรุงสุกก่อน ส่วนมากจะเป็นวัตถุดิบต่างๆ ในการทำอาหาร เช่น เนื้อสัตว์ เนื้อปลา อาหารแปรรูปอย่างไก่ทอด หมูแฮมเบอร์เกอร์ เฟรนซ์ฟราย ลูกชิ้นปลา เป็นต้น โดยผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะต้องผ่านกรรมวิธีแช่แข็งแบบ IQF หรือ Individual Quick Freezing ที่ผ่านเครื่องแช่เยือกแข็งแล้วค่อยนำไปบรรจุด้วยแผ่นพลาสติกหรือแผ่นฟิล์มใสในกระบวนการเทอร์โมฟอร์มมิ่ง สามารถทำได้ 2 แบบคือ การบรรจุแบบสุญญากาศ (Vacuum Packaging) และการบรรจุแบบปรับสภาพบรรยากาศ (Modified Atmosphere Packaging หรือ MAP)
2.Ready-to-Eat หรืออาหารพร้อมทาน
ผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมทานจะมีความแตกต่างกับอาหารพร้อมปรุง เพราะผ่านกระบวนการปรุงสุกมาแล้วและนำไปเข้าสู่กระบวนการแช่แข็งอีกทีแบบ IQF หรือ Individual Freezing จากนั้นก็จะทำการบรรจุสินค้าลงบรรจุภัณฑ์อาหารแช่แข็งที่มีการผลิตขึ้นเพื่ออาหารแต่ละประเภท โดยจะต้องสามารถนำไปอุ่นร้อนผ่านไมโครเวฟได้ เช่น ถ้วยกระดาษ ถาดพลาสติก เป็นต้น
วัสดุที่นิยมใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารแช่แข็ง
ในอุตสาหกรรมอาหารแช่แข็งนิยมเลือกใช้วัสดุประเภทพลาสติก และกระดาษในการทำบรรจุภัณฑ์อาหารแช่แข็ง ในรูปแบบของถุงสุญญากาศ เพื่อให้ทนทานต่ออุณหภูมิเยือกแข็งต่ำสุดที่ -20 °C โดยมีวัสดุดังนี้
- Nylon
- CPET
- Polyamide (PA)
- Polyethylene (PE)
- Polyester (PET)
- Polyvinylidene chloride (PVDC)
การบรรจุสินค้าด้วยบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมกับแต่ละผลิตภัณฑ์ คือปัจจัยสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องใส่ใจมากที่สุด เพราะเป็นถือเป็นสิ่งแรกที่ผู้บริโภคจะได้รู้จักและทำความเข้ากับผลิตภัณฑ์ของคุณ โดยเฉพาะอาหารประเภทแช่แข็งหากคุณเลือกใช้บรรจุภัณฑ์อาหารแช่แข็งที่ได้มาตรฐาน ทั้งในแง่ของความปลอดภัยต่อสินค้า และความสะดวกในการใช้งาน ผลิตภัณฑ์ของคุณก็สามารถเข้าไปเป็นตัวเลือกในการซื้อของเหล่าผู้บริโภคได้ไม่ยากอย่างแน่นอน