ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันอันตรายจากรังสี

ความรู้พื้นฐาน

สำหรับผู้ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ที่มีรังสี ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรม หรือทางการแพทย์ การศึกษาความรู้เกี่ยวกับการป้องกันอันตรายจากรังสีเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะการทำงานในพื้นที่ที่มีรังสีโดยขาดการเตรียมตัวที่ดีพอ อาจทำให้ได้รับผลกระทบจากรังสีจนนำไปสู่การเสียหายในระดับเซลล์ หรือทำให้เป็นมะเร็งได้

รังสีคืออะไร?

รังสี คือพลังงานที่อยู่ในรูปแบบของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรืออนุภาค สามารถแผ่จากแหล่งหนึ่งไปยังอีกแหล่งหนึ่งได้ ซึ่งรังสีบางชนิดอาจสามารถทะลุผ่านวัตถุชนิดต่าง ๆ ได้อีกด้วย โดยเราสามารถพบเจอรังสีได้ในทุก ๆ วัน มีทั้งรังสีที่เกิดจากธรรมชาติอย่างรังสีคอมมิค วัสดุกัมมันตรังสีที่อยู่ในดิน น้ำ อาหาร หรืออากาศ รังสีจากแสงแดด แสงอาทิตย์ ไมโครเวฟ รังสีภายในร่างกายของมนุษย์ รวมไปถึงรังสีที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อใช้ทางการแพทย์ ภาคอุตสาหกรรม หรืองานวิจัยต่าง ๆ

รังสีจะแบ่งออกเป็น 2 ชนิดหลัก ๆ คือ รังสีก่อให้เกิดไอออน และรังสีที่ไม่ก่อให้เกิดไอออน ซึ่งรังสีทั้ง 2 ชนิดนี้ หากร่างกายได้รับสะสมมากเกินไปก็อาจจะทำให้เกิดอันตรายได้ ดังนั้นการศึกษาชนิดของรังสีและวิธีการป้องกันอันตรายจากรังสีจึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราไม่ควรมองข้าม

01 รังสีก่อให้เกิดไอออน

รังสีก่อให้เกิดไอออน คือ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรืออนุภาคที่มีพลังงานสูงเพียงพอที่จะทำให้อิเล็กตรอนในอะตอมเกิดการแตกตัวเป็นไอออนขณะที่รังสีเคลื่อนที่ผ่านตัวกลาง ไม่ว่าจะเป็นทางตรง หรือทางอ้อม โดยตัวอย่างคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่อยู่ในกลุ่มรังสีก่อให้เกิดไอออน เช่น รังสีแกมม่า รังสีเอ็กซ์ ส่วนอนุภาคที่อยู่ในกลุ่มรังสีก่อให้เกิดไอออน เช่น นิวตรอน บีตา หรืออัลฟ่า เป็นต้น

รังสีก่อให้เกิดไอออนนั้น ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นรังสีที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่าง ๆ เช่น รังสีเอกซ์ที่นำไว้ใช้ในการถ่ายภาพเอกซเรย์เพื่อวินิจฉัยทางการแพทย์ หรือรักษามะเร็ง หรือรังสีแกมม่าที่ไว้ใช้ในการตรวจสอบความบกพร่องของวัสดุต่าง ๆ ในภาคอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตาม รังสีชนิดนี้อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อเนื้อเยื่อของสิ่งมีชีวิตได้ เพราะสามารถทำความเสียหายได้ในระดับพันธุกรรม (DNA) ซึ่งอาจส่งผลให้เซลล์กลายพันธุ์เป็นมะเร็งได้ ผู้ที่ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับรังสีชนิดนี้ จึงควรศึกษาวิธีการป้องกันอันตรายจากรังสีก่อให้เกิดไอออนก่อนใช้งาน

02 รังสีไม่ก่อให้เกิดไอออน

รังสีไม่ก่อให้เกิดไอออน คือ รังสีที่มีพลังงานต่ำกว่าแถบคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic Spectrum) หรือรังสีเหนือม่วง รังสีชนิดนี้จะมีพลังงานต่ำกว่าพลังงานยึดเหนี่ยวของอิเล็กตรอนในอะตอม จึงไม่ทำให้อิเล็กตรอนหลุดจากอะตอม แล้วแตกตัวเป็นไอออน ขณะเคลื่อนที่ผ่านตัวกลาง จึงไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ ยกตัวอย่างเช่น สนามแม่เหล็กไฟฟ้า คลื่นวิทยุ คลื่นไมโครเวฟ แสงอินฟราเรด หรือแสงอาทิตย์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารังสีไม่ก่อให้เกิดไอออนจะไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ แต่ถ้าได้รับในปริมาณมาก ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานก็สามารถทำให้เกิดอันตรายได้ต่อเนื้อเยื่อได้เช่นกัน เช่น รังสียูวีจากแสงอาทิตย์ที่หากเราได้รับนาน ๆ ติดต่อกันเป็นระยะเวลา ก็อาจทำให้ผิวหนังไหม้ คล้ำเสีย และนำไปสู่การเป็นมะเร็งผิวได้ การศึกษาวิธีการป้องกันอันตรายจากรังสีไม่ก่อให้เกิดไอออนจึงเป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน

รังสีก่อให้เกิดอันตรายได้อย่างไร ทำไมจึงควรให้ความสำคัญกับวิธีการป้องกันอันตรายจากรังสี ?

รังสีที่ก่อให้เกิดไอออนมีพลังงานที่สูงมากพอที่จะทำให้เซลล์ของสิ่งมีชีวิตเกิดความเสียหายได้ถึงระดับเซลล์พันธุกรรม (DNA) ซึ่งโดยปกติแล้ว เซลล์ของสิ่งมีชีวิตจะมีความสามารถในการฟื้นฟูและซ่อมแซมเซลล์ที่เสียหายได้ อย่างไรก็ตาม หากเซลล์ได้รับความเสียหายเป็นประจำ เซลล์ต้องซ่อมแซมตนเองหลายครั้ง ก็จะเพิ่มโอกาสให้เซลล์ซ่อมแซมตนเองได้ไม่สมบูรณ์ จนทำให้เซลล์ตาย หรือเกิดเซลล์กลายพันธุ์ และนำไปสู่การเป็นเนื้องอก หรือมะเร็งได้

ในผู้ที่ได้รับรังสีที่ก่อให้เกิดไอออนในปริมาณต่ำนั้น จะไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายทันที แต่ร่างกายจะค่อย ๆ สะสมปริมาณรังสี และทำให้เกิดผลกระทบตามมาในภายหลัง เช่น ปริมาณเม็ดเลือดขาวลดลง เกิดหมันชั่วคราวในเพศชาย หรือเกิดต้อกระจก แต่ในผู้ที่ได้รับรังสีที่ก่อให้เกิดไอออนในปริมาณสูง เช่น ระเบิดปรมาณู จะสามารถทำให้เกิดผลกระทบได้ทันที โดยจะแสดงออกมาในรูปผิวหนังไหม้ เรียกอาการนี้ว่า “อาการแพ้รังสี (Radiation Sickness)”

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะได้รับรังสีที่ก่อให้เกิดไอออนในปริมาณต่ำหรือสูง หากได้รับรังสีที่ก่อให้เกิดไอออนติดต่อกันเป็นระยะเวลานานก็จะส่งผลให้เกิดโรคมะเร็งได้ทั้งนั้น สำหรับผู้ที่ต้องปฏิบัติงานในพื้นที่ที่มีรังสีชนิดนี้ เพื่อลดผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากรังสีก่อให้เกิดไอออน การป้องกันอันตรายจากรังสีด้วยการตรวจวัดปริมาณรังสีประจำตัวบุคคลเป็นประจำ

รู้จักขีดจำกัดปริมาณรังสี สิ่งสำคัญในการป้องกันอันตรายจากรังสี

แม้ว่ารังสีที่ก่อให้เกิดไอออนจะทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายของสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม แต่รังสีชนิดนี้ก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างมากมาย ทั้งในด้านการแพทย์ อุตสาหกรรม หรืองานวิจัยต่าง ๆ ดังนั้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา จึงมีคำแนะนำจากหลายหน่วยงานที่ให้ความสำคัญด้านการป้องกันอันตรายจากรังสี โดยเฉพาะคณะกรรมาธิการป้องกันอันตรายจากรังสีระหว่างประเทศ (International Commission on Radiological Protection; ICRP) ที่ได้ออกมาให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่ปฏิบัติงานทางด้านรังสี โดยกำหนดค่าขีดจำกัดปริมาณรังสีที่ผู้ปฏิบัติสามารถได้รับตามระยะ เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้จากการใช้งานรังสี ซึ่งหน่วยงานกำกับดูแลของแต่ละประเทศก็ได้มีการนำมาใช้เป็นกฎระเบียบในการควบคุมประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย ที่ได้กำหนดค่าขีดจำกัดปริมาณรังสีตามตารางด้านล่าง เพื่อลดความเสี่ยง และอันตรายจากรังสีที่จะเกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติงาน ประชาชน และสิ่งแวดล้อม

การวัดรังสีบุคคล คืออะไร?

การวัดรังสีบุคคล เป็นหนึ่งในวิธีการป้องกันอันตรายจากรังสีขั้นพื้นฐานสำหรับผู้ที่ปฏิบัติงานด้านรังสี โดยจะใช้เครื่องวัดรังสีบุคคลในการวัดค่าปริมาณรังสีที่ได้รับขณะปฏิบัติงาน ซึ่งสามารถบันทึกค่าปริมาณรังสีในเทอมของปริมาณรังสีดูดกลืน (Absorbed Dose) ในหน่วยเกรย์ (Gy) หรือปริมาณรังสีสมมูล (Equivalent Dose) ในหน่วยซีเวิร์ต (Sv) ได้

เครื่องวัดรังสีบุคคล มีกี่ประเภท?

เครื่องวัดรังสีบุคคลที่ใช้งานกันอยู่ในปัจจุบัน มี 2 ประเภท แบ่งตามลักษณะในการแปลผล ดังนี้

  1. 01 เครื่องวัดรังสีบุคคลชนิดโดยอ้อม (Passive Dosimeters)
    เครื่องวัดรังสีบุคคลชนิดโดยอ้อมจะต้องนำมาแปลผลโดยเครื่องอ่านตามเทคนิคที่ใช้ ได้แก่ Film badges, Thermo Luminescent Dosimeter (TLD), Optically Stimulated Luminescent Dosimeter (OSLD) และ Glass dosimeter
  2. 02 เครื่องวัดรังสีบุคคลชนิดแสดงผลทันที (Active Dosimeters)
    เครื่องวัดรังสีบุคคลชนิดแสดงผลทันที เป็นเครื่องวัดรังสีบุคคลที่สามารถแสดงผลการอ่านได้โดยตรง ทั้งปริมาณรังสีสะสม และอัตราปริมาณรังสี ได้แก่ Pocket Dosimeter และ Electronic Personal Dosimeter (EPD) โดยคุณสมบัติในการวัดจะขึ้นอยู่กับหัววัดที่นำมาใช้งาน